25 เมษายน 2556

H7N9

H7N9 หวัดมรณะสายพันธุ์ใหม่
-------------------------------------

ไวรัส เชื้อโรค โรคติดต่อ ความเจ็บป่วย เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มานานนับพันปี ในเวลานี้หาก H7N9 เป็นสิ่งที่น่ากลัวแล้วละก็ ลองมาดูประวัติกันครับ ว่าไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้ได้สร้างความเสียหาย ได้สร้างความน่ากลัว และให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจาก "HN"

โรคไข้หวัดใหญ่ (อังกฤษ: influenza) ต้นตระกูลใหญ่ของไข้หวัดที่พบบ่อยในทุกคนทุคเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จบพบมาในฤดูฝน ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่สามารถระบาดได้กว้างขวาง และมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ โรคนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Influenza" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ "Influentia" (แปลว่า "Influence" ความชั่วร้ายจากดวงดาว ) เนื่องเพราะคนสมัยก่อน เชื่อว่า การระบาดของโรคนี้มาจากอิทธิพลของดวงดาวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ นายแพทย์ฮิปโปเครติส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันได้บันทึกโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๑๓๑ ปี พ.ศ.๒๔๗๖ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละชนิดกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดไข้หวัด

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ซึ่งเป็นไวรัสมีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ หรือจาม หรือการสัมผัสถูกมือของเครื่องใช้เปื้อนเชื้อโรค ระยะฟักตัว 1-4 วัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า "Ortho-myxovirus"  ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
1.เอ (A)
2.บี (B)
3.ซี (C)

ชนิดเอและบี มักก่อให้เกิดอาการรุนแรง และอาจพบระบาดได้กว้างขวาง และสามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย จึงแตกแขนงเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ก่อให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่ายและรวดเร็ว
ชนิดซี มักเป็นไม่รุนแรง และเกิดการระบาดในวงแคบ (เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น)
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สามารถพบได้ทั้งในคนและสัตว์ (ส่วนอีก ๒ ชนิด พบเฉพาะในคน)
แบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ โดยมีชื่อเรียกตามชนิดของโปรตีน ที่พบบนผิวของเชื้อไวรัส โปรตีนดังกล่าวมีอยู่ ๒ ชนิด ได้แก่
-ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin) เรียกย่อๆ ว่า H ซึ่งมีอยู่ ๑๕ ชนิดย่อย
-นิวรามินิเดส (neura-minidase) เรียกย่อๆ ว่า N ซึ่งมีอยู่ ๙ ชนิดย่อย
จึงใช้ตัวอักษร H ควบกับ N โดยมีตัวเลขกำกับท้ายอักษรแต่ละตัว ตามชนิดของโปรตีนที่พบ

ความเป็นมาของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก
ปฐมบทโรคระบาดครั้งใหญ่ ปีค.ศ.1580 (พ.ศ.2123) 
         จากหลักฐานที่พิสูจน์ได้จนถึงขณะนี้พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงไปทั่วโลกครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1580 มีจุดเริ่มต้นจากทวีปเอเชีย แพร่ไปยังทวีปแอฟริกา ตามด้วยยุโรป 
         รายงานในวารสารจุลชีววิทยา "Applied Microbiology" ปีค.ศ.2001 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน ชี้ว่า โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ประชากรในเมืองหลายแห่งของสเปนตายยกเมือง ส่วนในกรุงโรม ประเทศอิตาลี มีผู้เสียชีวิต 8,000 คน และเป็นที่มาของคำว่า "Influenza" หรือ "ไข้หวัดใหญ่" ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ โดยมีรากศัพท์ภาษาอิตาเลียนจากคำว่า "Influenza del Freddo" แปลว่า "อาการจับไข้" คล้อยหลังอีก 160 ปีต่อมา คนอังกฤษจึงหยิบยืมตัดทอนคำว่า "Influenza" มาใช้เรียกคนที่ป่วยเป็นไข้รุนแรง 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การระบาดใหญ่เกิดขึ้นจากการอุบัติของไวรัสชนิดใหม่ เรียงลำดับดังนี้
พ.ศ. 2461-2462 (ค.ศ.1918-1919) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย (subtype) H1N1 (ในยุคนั้นยังไม่สามารถตรวจแยกเชื้อได้ การตรวจชนิดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นภายหลัง) มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่สเปน (Spainish flu) เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 50 ล้านคน (มากกว่าผู้คนที่เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก) เป็นผู้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาถึงกว่า 500,000 คน
พ.ศ. 2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H2N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian flu) เริ่มที่ตะวันออกไกลก่อนระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 70,000 คนในสหรัฐอเมริกา การระบาดในครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้รวดเร็ว และผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทัน จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก
พ.ศ. 2511-2512 (ค.ศ.1968-1969) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H3N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong flu) รายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง แล้วจึงแพร่กระจายออกไป มีผู้เสียชีวิตประมาณ 34,000 คนในอเมริกา เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย (H2N2) จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว
พ.ศ. 2520-2521 (ค.ศ.1977-1978) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 กลับมาระบาดใหม่ มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian flu) เริ่มระบาดที่ประเทศจีนตอนเหนือแล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่กระจายอยู่ทั่วไปก่อนปี พ.ศ. 2500 คือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1N1) ที่ระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461-2462 (ก่อนถูกแทนที่ด้วยไข้หวัดใหญ่เอเชีย คือชนิดย่อย H2N2 ในปี พ.ศ. 2500) ผู้ที่อายุเกิน 23 ปีในขณะนั้น ส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานโรคแล้วจากการระบาดครั้งก่อน จึงเกิดโรครุนแรงเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 23 ปี ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้เท่านั้น
พ.ศ. 2552 (ค.ศ.2009) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 เป็นไวรัสที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่นก ไข้หวัดใหญ่หมูและไข้หวัดใหญ่มนุษย์ เกิดเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่พันธุ์ผสม กลับมาระบาดอีกครั้ง มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (Mexican flu) หรือชื่อใหม่ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิดย่อย H1N1 2009 เริ่มระบาดที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อเดือน มี.ค.แล้วกระจายสู่สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ฯลฯ
ไวรัส H1N1 กลับมาอีกครั้ง มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้นแล้วหลายคน ซึ่งตอนนี้นักวิชาการยังไม่ยืนยันว่าจะไม่ติดต่อจากคนสู่คน 
แต่นักวิชาการเกรงว่า ถ้าคนรับเชื้อ H1N1 พร้อมๆ กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในคนอยู่ในร่างกายคนเดียวกัน เชื้อทั้ง 2 สามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ จนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ตัวนี้จะสามารถแพร่จากคนสู่คน (ทำนองเดียวกัน หมูสามารถรับเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ได้ และสามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ในตัวหมู กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งจะติดให้คน แล้วคนติดสู่คนด้วยกันเองได้) ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะเกิดการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางและร้ายแรงได้ เพราะเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ที่มนุษย์เราไม่เคยเผชิญมาก่อนเลย 
ล่าสุด "H7N9" ได้มีการแพร่ระบาดใน 3 มณฑลของจีน ได้แก่ เจียงสู เจ้อเจียง และอันหุย สำหรับผู้ติดเชื้ออยูที่ 16 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยอาการไล่ตั้งแต่ไข้สูง ปอดบวมรุนแรง จนกระทั่งระบบหายใจล้มเลว 
เห็นได้ว่า ไวรัสชนิดนี้ ได้วิวัฒนาการสายพันธุ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีการข้ามสายพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในรูปแบบที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ถึงสายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้น จากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน จากสัตว์สู่สัตว์ หรือทางใดก็ตามแต่ เห็นได้ว่าธรรมชาติมีกฎมีระเบียบในตัวของมัน เราในฐานะที่เป็นมนุษย์สามารถที่จะเรียนรู้ ศึกษา เข้าใจในระบบของอนุภาคนี้ได้ และคงต้องพัฒนาเคียงคู่กับสิ่งมีชีวิตนี้ต่อไป "H7N9"
-----------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย วิจัยก้าวใหม่ วช.
อ้างอิงข้อมูล และภาพประกอบ
ไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/column/oversea/worldwide/337328
-----------------------------------------------------------

1 ความคิดเห็น: