04 เมษายน 2556

ครบรอบ 40 ปี Martin Cooper


                       เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์เดลิเมลของอังกฤษ ได้รวบรวมภาพวิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือมาฝากกัน แถมยังพาย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1973 ที่โลกเพิ่งจะได้รู้จักกับจุดเปลี่ยนของยุคสมัยแห่งการสื่อสาร เมื่อ Motorola DynaTAC ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลก ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย มาร์ติน คูเปอร์ วิศวกรอาวุโสแห่งบริษัทโมโตโรล่า ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งโทรศัพท์มือถือ

                        สำหรับ Motorola DynaTAC นั้นมันมีความสูงถึง 9 นิ้ว ประกอบด้วย 30 แผงวงจร สามารถโทรได้นาน 35 นาที และต้องใช้เวลาชาร์จแบตนานถึง 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งในตอนนั้น มาร์ตินก็ได้ใช้ Motorola DynaTAC หมุนเบอร์โทรไปยังคู่แข่งของเขา ที่ บริษัท เบลล แล็บส์ ซึ่งกำลังสร้างโทรศัพท์มือถือของพวกเขาเองเช่นกัน โดยมาร์ตินได้โอ้อวดว่าตัวของเขากำลังสนทนากับอีกฝ่ายจากโทรศัพท์มือถือ เครื่องแรกของโลกอย่างแท้จริง 

และเป็นเวลาอีกนานกว่า 10 ปีหลังจากนั้นที่ โมโตโรล่าได้ส่ง DynaTAC 8000X ออกมาจำหน่ายในตลาดเป็นครั้งแรก พร้อมกับราคาจำหน่ายโทรศัพท์รุ่นแรกซึ่งมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ในราคา 2,300 ปอนด์ (ราว 102,000 บาท)



          จน ถึงทุกวันนี้ เป็นเวลานานถึง 40 ปีแล้วหลังจากที่มาร์ตินได้ผลิตโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก ในตอนนี้มาร์ติน วัย 85 ปี ได้เผยว่า เขาต้องการที่จะสร้างบางสิ่งที่จะเป็นเหมือนตัวแทนของแต่ละบุคคล ซึ่งเราจะสามารถกำหนดเลขหมายของแต่ละบุคคลได้  ทว่าแม้แต่ตัวเองเขาเองก็ยังไม่อยากจะเชื่อเลยว่าโทรศัพท์มือถือ จะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ของตลาดขนาดใหญ่ เพราะมันมีราคาที่สูงมาก แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เขาได้มองเห็นและคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ในอดีตก็คือ โทรศัพท์มือถือจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสำหรับการพก พา และสามารถยกมันขึ้นมาสนทนาแนบหูได้ หรือแม้กระทั่งอาจจะฝังมันไว้ใต้ผิวหนังได้ด้วยซ้ำ

          นับจากในอดีต วิวัฒนาการเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือมีความก้าวหน้าอย่างมาก นอกจากลักษณะภายนอกที่มีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักที่เบาขึ้น มีราคาถูกลง และมีสีสันมากมายแล้ว ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือยังใช้สำหรับรับส่งข้อมูลที่มีขนาดใหญ่กว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเสียง ภาพ วิดีโอ ทั้งยังสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย

          ด้าน ดร.ไมค์ ชอร์ท ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิศวกรรมและเทคโนโลยีกล่าวว่า โทรศัพท์มือถือของมาร์ตินนั้น เป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกที่ที่สร้างจาก เซลลูลาร์ โฟน ซึ่งในช่วง 10 ปีต่อมาแม้มันจะมีพัฒนาการอย่างมาก แต่ก็เป็นเพียงงานวิจัยในห้องทดลองเท่านั้น ก่อนที่โทรศัพท์มือถือจะถูกนำไปจำหน่ายครั้งแรกในสหรัฐฯ ตั้งแต่ยุคต้นปี ค.ศ. 1980 ซึ่งโทรศัพท์มือถือจะถูกใช้กันเพียงในกลุ่มนักธุรกิจเท่านั้น

          ต่อมา ในช่วงปี ค.ศ. 1993 - 2003 ก็คือช่วงเวลาของการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาพัฒนาผสานเข้ากับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนำไปสู่การรับส่งข้อมูลในระบบ 3G ที่เข้ามาระหว่างปี ค.ศ. 2003 - 2013 ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และทำให้คนมีการใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวาง

          ทั้งนี้ สำหรับสมาร์ทโฟนเครื่องแรกนั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อราว 5 ปีก่อน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงของโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วนั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 15 - 18 ปีให้หลังนี้เอง

          นอกจากนี้ ดร.ไมค์ ยังเผยอีกว่า ในตอนนี้คนยังคงคาดเดาเกี่ยวกับเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือที่จะได้เห็นใน อนาคต ซึ่งตัวเขาเองก็เชื่อว่าโทรศัพท์มือถือจะยังคงถูกพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ โดยในอนาคตเราอาจจะสามารถรับส่งข้อมูลได้มากขึ้น และอาจมีการสนทนาผ่านวิดีโอที่ดีกว่าตอนนี้ หรืออาจจะสามารถฉายภาพของอีกฝ่ายที่บนกำแพงบ้านได้ ดังนั้นมีนวัตกรรมอีกมากที่จะตามมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งข้อมูลและวิดีโอ
          ในอนาคตโทรศัพท์มือถืออาจจะมีหน่วยความจำมากขึ้น มีลูกเล่นมากกว่าเดิม และอาจรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น และในตอนนี้โทรศัพท์มือถือก็มีน้ำหนักลดลงมาก ไม่แน่ว่าในปีนี้เราอาจจะได้เห็นนาฬิกาโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกก็เป็นได้ อีกทั้งราคาของโทรศัพท์มือถือยังถูกลงเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตเราอาจจะสามารถซื้อฟังก์ชันเพิ่มได้ด้วยราคาเพียง 1 ปอนด์เท่านั้น (ราว 44.5 บาท)

          อย่างไรก็ดี แม้ว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ถึงอนาคตของโทรศัพท์มือถือในอีก 40 ปี ข้างหน้า แต่ ดร.ไมค์ ก็เชื่อมั่นว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกหลายล้านคนแน่นอน
--------------------------------------------------------------------
ขอบคุณที่มาของข้อมูล
http://hilight.kapook.com/view/84311
http://www.matichon.co.th/
http://variety.thaiza.com 
---------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น