10 พฤษภาคม 2556

ปลาทู


                “ปลาทู” เป็นปลาที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ เห็นได้จากคำพังเพยที่มีใช้ติดมาถึงปัจจุบัน  “ข้าวใหม่ปลามัน”และเป็นอาหารประจำชาติ “น้ำพริกปลาทู” นอกจากนี้เดิม “ปลาทูนึ่ง” หรือ  “ปลาทูเข่ง”  ยังถือว่าเป็นอาหารหลักของคนพื้นบ้าน เนื่องจากมีรสชาติดี ราคาถูก ประกอบกับมีปริมาณมาก ทำให้มีการกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ  ทั่วประเทศ  ยิ่งกว่าปลาทะเลชนิดอื่นๆ จนอาจกล่าวได้ว่า  “ปลาทู”  เป็นตัวแทนของปลาทะเลในประเทศไทย  เพราะฉะนั้น“ปลาทู” จึงเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติที่ควรอนุรักษ์ดำรงไว้ไม่ให้เหลือเพียงคำพังเพย คำกล่าวอ้าง หรือมีเฉพาะในบทเรียน  เท่านั้น..  เห็นได้ว่า ปลาทู มีความสำคัญกับคนไทยมาช้านาน ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่อยู่เคียงข้างกับเราชาวไทยเป็นอาหาร 1 อย่างที่บ้านเราต้องมีกันทุกคนในสำรับอาหาร ลองมาดูกันครับว่า ปลาทู มีอะไรมากกว่าที่ตาเราเห็นไหมครับ
          
                ปลาทู (อังกฤษ: Mackerel) เป็นปลาทะเลที่อยู่ในสกุล Rastrelliger ในวงศ์ Scombridae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับปลาโอ, ปลาอินทรีและปลาทูน่า มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำในทะเลเขตร้อนตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก 200 เมตร โดยเฉพาะแถบน่านน้ำอินโดแปซิฟิกอันได้แก่ น่านน้ำประเทศพม่า  มาเลเซีย  อินโอนีเซีย  กัมพูชา  ฟิลิปปินส์  และประเทศไทย ในน่านน้ำไทยนั้นจะพบปลาทูได้ทั้งบริเวณอ่าวไทย  และฝั่งทะเลอันดามัน พบทั้งหมด 3 ชนิด ดังนี้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. ปลาทูสั้น (
Short mackerel,Indo-Pacific macerel;Rastrelliger brachysoma(Bleeker,1851))
              เป็นชนิดที่นิยมบริโภคมากที่สุด
ชื่อไทย      ปลาทู
ชื่อสามัญ   SHORT-BODIED MACKEREL
ชื่อวิทยาศาสตร์  Rastrelliger brachysoma (Bleeker)
ถิ่นอาศัย   ผิวน้ำและกลางน้ำในทะเล พบแพร่กระจายทั่วไปทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
อาหาร  กินลูกปลา สัตว์ไม่มีกระดูกและแพลงค์ตอน
ขนาด   ความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร

---------------------------------------------------------------------------
2. ปลาทูลัง (Indian macerel; R.Kanagurta(Cuvier,1816)
ชื่อไทย    ปลาลัง, ทูโม่ง, โม่ง, โม่งลัง 
ชื่อสามัญ   INDIAN MACKERREL 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rastrellige Kanagurta(Cuvier,1816)
ถิ่นอาศัย พบแพร่กระจายทั่วไปทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน 
อาหาร     กินแพลงค์ตอน 
ขนาด     ความยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร
---------------------------------------------------------------------------

3. ปลาทูปากจิ้งจก หรือปลาลังปากจิ้งจก (Island mackerel; R.faughni Matsui,1967)
(กรมประมง,2548)
ชื่อไทย      ปลาทูปากจิ้งจก
ชื่อสามัญ    Island mackerel 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rastrelliger  faughni Matsui,1967 
ถิ่นอาศัย ผิวน้ำและกลางน้ำในทะเล พบแพร่กระจายทั่วไปทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน 
อาหาร    แพลงค์ตอน 
ขนาด     ความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร
---------------------------------------------------------------------------
ซึ่งจะพบว่าปลาทูสั้นเป็นปลาทูที่ได้รับความนิยมในการบริโภคสูงสุด
ปลาทู  ผสมพันธุ์  ปลาทูเป็นปลาแยกเพศ  กล่าวคือ  มีตัวผู้และตัวเมีย  ซึ่งมีการผสมพันธุ์กันภายนอกตัว  โดยเวลาผสมพันธุ์  ตัวผู้และตัวเมีย  จะว่ายน้ำขนานกันแล้วจะปล่อยไข่และน้ำเชื้อออกมาผสมกัน  ไข่ปลาทูภายหลังจากที่ได้รับการผสมแล้วจะล่องลอยไปตามกระแสน้ำและฟักออกเป็นตัวอ่อนภายใน  ๒๔  ชั่วโมง  โดยมีความยาวลำตัวประมาณ  ๓.๐ – ๓.๒  มิลลิเมตร  ปลาทูสั้นมีไข่ประมาณ  ๒๐๐,๐๐๐  ฟอง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แหล่งวางไข่ของปลาทู
               คำบอกกล่าวในอดีต เชื่อกันว่าปลาทู วางไข่ในแถบทะเลจีนใต้บริเวณเกาะไหหลำ แล้วลูกปลาจะว่ายน้ำเลาะแหลมอินโดจีนลงมาทางใต้ เมื่อถึงอ่าวไทยลูกปลาเหล่านั้นก็จะโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ต่อมากรมประมงได้ทำการศึกษาวิจัยจนพบว่า ปลาทู ดำรงชีวิตอยู่ในน่านน้ำไทยเรานี้เอง โดยแหล่งวางไข่ที่สำคัญ คือ บริเวณแหลมแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  และบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง เกาะพะงัน เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี นอกจากนี้ ยังพบว่าปลาทู มีการวางไข่เกือบตลอดทั้งปี  โดยช่วงที่มีการวางไข่มากมีอยู่  ๒  ช่วงด้วยกัน  คือ  ช่วงเดือนกุมภาพันธ์  ถึงเดือนเมษายน  และอีกช่วงหนึ่งระหว่างเดือนมิถุนายน  ถึงเดือนสิงหาคม

การจับปลาทู
                   ในอดีตเครื่องมือใช้จับปลาทูที่สำคัญ  คือ  โป๊ะ  อวนล้อมติดตา  อวนตังเก  อวนล้อมและอวนดำ  แต่ในปัจจุบัน  จะพบว่าเครื่องมือหลักที่ยังคงใช้จับปลาทู  ได้แก่  อวนดำ  อวนล้อมติดตา  และอวนลากคู่  แหล่งทำการประมงปลาทูที่สำคัญในอ่าวไทย  มีอยู่  3  บริเวณด้วยกัน  คือ  บริเวณอ่าวไทยตอนใน  บริเวณฝั่งตะวันตก  ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช  และบริเวณจังหวัดตราด ปลาทู  มีขนาดโตเต็มที่พร้อมที่จะมีการผสมพันธุ์  จะมีความยาวของลำตัวประมาณ  ๑๗ ๑๘  เซนติเมตร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการของปลาทู
           ปลาทู เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาหารทะเลหลักของคนไทยมาช้านาน ปลามีรสชาติที่อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพราะในปลาทูจะมีสารโอเมก้า -3 (omega-3) ค่อนข้างมาก ราคาก็ไม่แพง แถมยังถูกปากคนไทยเป็นที่สุด 
          โดยในเนื้อปลาทู 100 กรัม จะมีสารโอเมก้า 3 ประมาณ 2-3 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอกับร่างกาย เนื่องจากในหนึ่งวันร่างกายต้องการโอเมก้า 3 ประมาณ 3 กรัมต่อวัน
          ความเชื่อที่ว่าทานปลาแล้วจะฉลาด นับว่าเป็นเรื่องจริงและไม่ใช่เรื่องที่สร้างมาหลอกเด็กอีกต่อไป เพราะการทานปลาที่มีโอเมก้า 3 สำหรับเด็กจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และช่วงบำรุงทำให้สมองแข็งแรง ตลอดจนในผู้สูงอายุ ที่ร่างกายเริ่มเสื่อโทรมไปตามกาลเวลาการทานโอเมก้า 3 ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสามารถเข้าไปช่วยปรับสมดุลและทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เช่นกัน
          แต่อย่างไรก็ตาม การทานโอเมก้า 3 นั้น ควรได้รับในปริมาณที่พอเหมาะจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าการรับประทานปลาทูเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ถึงแม้ว่าคุณจะทานอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลาเข้าไปอีก ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังต้องสิ้นเปลืองเงินทองที่จะต้องไปหาซื้อมารับประทานอีก ทางที่ดีทำอะไรก็ทำให้พอเหมาะพอเพียงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงดีกว่าครับ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ผลงานวิจัยเกี่ยวกับปลาทู
            นักวิจัยกรมประมงเพาะพันธุ์ปลาทูสำเร็จครั้งแรกของโลก ใช้เวลาทดลอง 2 ปี จับพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงในระบบปิด มีน้ำหมุนเวียน ปรับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมกับระบบนิเวศในทะเล พบปลาทูวางไข่มากถึง 3 หมื่นฟอง หวังช่วยทดแทนการจับปลาทูมากเกินไป

           เมื่อวันที่ 11 มกราคม ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากความต้องการปลาทูจำนวนมหาศาลนี้ ทำให้ชาวประมงมีการพัฒนาเครื่องมือการทำประมงปลาทูให้มีประสิทธิภาพในการจับที่สูงขึ้นจนเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ ส่งผลให้แนวโน้มของประชากรปลาทูในปัจจุบันเริ่มลดน้อยลง ที่ผ่านมากรมประมงได้ใช้มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการห้ามจับปลาทูในฤดูวางไข่ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 15 พฤษภาคมของทุกปี ในเขตทะเลอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาทูในช่วงฤดูวางไข่

           "ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงมีความพยายามในการศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาทูเพื่อทดแทนการจับจากธรรมชาติ โดยได้วางแนวทางและกำหนดนโยบายให้นักวิชาการประมงผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ เน้นการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ล่าสุดศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ปลาทูในระบบปิดได้เป็นครั้งแรกของโลก" อธิบดีกรมประมงเผย


           ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร ริเริ่มการศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยงปลาทู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตปลาทูทดแทนการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติอย่างเกินความพอดี แต่เนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่มีความอ่อนแอ ใจเสาะ จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยง จึงต้องเริ่มดำเนินการจากการรวบรวมข้อมูลทางด้านชีววิทยา ฤดูกาลวางไข่ ลักษณะของนิเวศที่อยู่อาศัย ชนิดของอาหารที่พบในกระเพาะอาหารของปลาทู เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านวิชาการ และประยุกต์ในการผลิตปลาทูเชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพและใช้ระบบน้ำหมุนเวียน
           น.ส.พรรณติยา ใจอ่อน นักวิชาการประมงปฏิบัติการ และทีมเพาะเลี้ยงปลาทู ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งสมุทรสาคร กรมประมง บอกว่า เลี้ยงปลาทูพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงที่ได้มาจากทะเลในกระชังที่ขึงไว้ในบ่อดินนาน 6 เดือน จนปลาเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ จึงย้ายปลาขึ้นมาเลี้ยงในถังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในโรงเพาะฟัก โดยให้อาหารสูตรเฉพาะของศูนย์ฯ และเลี้ยงในระบบกรองน้ำแบบชีวภาพด้วยเครื่องโปรตีนสกิมเมอร์ เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่เหมาะสมปราศจากเมือกโปรตีนที่ตกค้าง มีการควบคุมความเค็มที่ระดับ 27-30 ส่วนใน 1,000 และควบคุมอุณหภูมิให้มีค่าคงที่อยู่ระหว่าง 29-32 องศา
           "จากความพยายามมานานกว่า 2 ปี ก็ได้เกิดผลสำเร็จขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2554 โดยปลาทูได้วางไข่และสามารถอนุบาลในระบบปิดได้สำเร็จ ทั้งนี้ แม่ปลาทูวางไข่ครั้งละประมาณ 15,000-30,000 ฟอง และมีพฤติกรรมวางไข่แบบรวมฝูง แม่ปลาทั้งฝูงจะวางไข่เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันหลายวันไปจนหมดฤดูผสมพันธุ์" น.ส.พรรณติยา
           สำหรับไข่ของปลาทูเป็นแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอยน้ำ มีหยดน้ำมันและถุงไข่แดงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับระบบร่างกาย ไข่มีขนาดประมาณ 0.80 - 0.96 มิลลิเมตร ใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 16-17 ชั่วโมง ถุงไข่แดงของลูกปลาเริ่มยุบและหมดไปภายใน 3 วัน ลูกปลาตั้งแต่วันแรกที่ฟักออกจากไข่ถึงอายุ 7 วัน อนุบาลด้วยแพลงก์ตอนที่ประกอบไปด้วยทั้งสาหร่ายสีเขียวและสีน้ำตาล ร่วมกับโรติเฟอร์ โคพิพอต และหลังจากนั้นลูกปลาจะสามารถกินอาร์ทีเมียแรกฟักและอาหารเม็ดได้
---------------------------------------------
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-3485-7136 หรือ 0-3442-6220 ในวันเวลาราชการ
---------------------------------------------
แนะนำหนังสือ ปลาทูคู่คนไทย


ปลาทู คู่ครัวไทย
ผู้แต่ง: อ.ศรีนรา นวลแก้ว
ISBN: 9786165300780
ราคา 213 บาท
--------------------------------------------

แนะนำอาหารปลาทู 1 ในเมนูเด็ด
สูตรอาหารไทย : ยำปลาทู [ THAI MACKEREL SALAD ]
* เครื่องปรุง + ส่วนผสม* ปลาทู 2 ตัว (ล้างทำความสะอาดและ ผึ่งให้แห้ง)
* พริกขี้หนู 1/2 ช้อนโต๊ะ (ปรับ เพิ่ม/ลด ตามความชอบ)
* ต้นหอมหั่น 1 ช้อนโต๊ะ
* หอมแดงซอย 3 ช้อนโต๊ะ
* ตะไคร้ซอย 3 ช้อนโต๊ะ
* ผักชีหั่น 1 ช้อนโต๊ะ
* น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
* น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
* ใบสาระแหน่ (สำหรับแต่งหน้าอาหาร)
* ผักสดสำหรับทานกับยำ (แตงกวา, มะเขือเทศ, อื่นๆ)
* น้ำมันสำหรับทอด


วิธีทำทีละขั้นตอน
1. ตั้งน้ำมันในกระทะบนไฟร้อนปานกลาง ใส่ปลาทูลงไปทอดจนสุกเหลืองทั่ว จึงนำออกมาสะเด็ดน้ำมัน จากนั้นจึงแกะเอาแต่เนื้อปลาทูออกมาเตรียมไว้ (ถ้าไม่ชอบมันหรือกำลังลดความอ้วน สามารถนำปลาทูไปนึ่งแทนการทอดได้)
2. ในชามขนาดใหญ่, ผสมเนื้อเปลาทูทอด (หรือนึ่ง), หอมแดง, ต้นหอม, ตะไคร้และ พริกขี้หนู เข้าด้วยกัน
3. ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำมะนาว คลุกเคล้าจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี ปรับรสตามความชอบ
4. ตักยำใส่จาน จัดผักสดที่เตรียมไว้ข้างๆ โรยหน้าด้วยใบสาระแหน่ เสริฟกับข้าวสวยร้อนๆ หรือกับแกล้มทานเล่นก็ดี
(สำหรับ 2 ท่าน)
------------------------------------------------------------------------------
“ปลาทูจานเด็ด ทานอร่อย สาร omega-3 


มีประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการ 
วันนี้คุณกินปลาทูแล้วหรือยังครับ"
--------------------------------------------------------
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
อ้างอิงข้อมูลที่มา
ปลาทู http://th.wikipedia.org/wiki/
ประมงสุดเจ๋งเพาะปลาทูครั้งแรกโลก http://hilight.kapook.com/view/66424
Fisheries http://www.fisheries.go.th/marine/KnowladgeCenter/knowledge/Platoo/platoo.html

สูตรอาหารไทย http://www.ezythaicooking.com/free_recipes/thai_mackerel-salad_th.html
บทความ “ปลาทู”  มรดกวัฒนธรรมไทย 
คุณอังกูร  รัตนพรหม หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลภาคใต้ตอนบน  จังหวัดชุมพร

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

1 ความคิดเห็น:

  1. ปลาทูเป็นปลาที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน กินแล้วมีประโยชน์มากมาย

    ตอบลบ